การทำให้เครื่องมือแพทย์แห้ง และ การตรวจสอบความสะอาดเครื่องมือแพทย์
ตอนที่ 9 #การทำให้เครื่องมือแพทย์แห้ง และ การตรวจสอบความสะอาดเครื่องมือแพทย์
..........................................................................
การทำให้เครื่องมือแพทย์แห้ง
การทำให้เครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการทำความสะอาดแล้วแห้ง ช่วยป้องกันการเจริญของแบคทีเรีย และมีผลต่อประสิทธิภาพการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ เช่น การเจือจางของน้ำยาทำลายเชื้อ การเกิดสารพิษจากปฏิกิริยาของแก๊สเอทธิลีนออกไซด์ และการเกิด Wet Pack ในกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อ เป็นต้น
![]() |
<การทำให้เครื่องมือแพทย์แห้ง > |
วิธีการทำให้เครื่องมือแพทย์แห้งทำได้โดย
1.ใช้เครื่องอบแห้งด้วยความร้อน (Drying Cabinet) โดยใช้อุณหภูมิที่เหมาะสมกับเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องมือประเภทสายยางใช้อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส เครื่องมือสแตนเลสต้องทำให้แห้งทันที โดยใช้อุณหภูมิประมาณ 80 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันการเกิดคราบบนเครื่องมือ เป็นต้น โดยศึกษาข้อมูลจากคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต
2.กรณีใช้เครื่องล้างอัตโนมัติจะมีโปรแกรมทำให้เครื่องมือแพทย์แห้งในขั้นตอนสุดท้าย
3.กรณีที่เครื่องมือแพทย์ไม่สามารถทนความร้อนได้ ให้ใช้ผ้าสะอาดชนิดที่ไม่มีขุยหรือเส้นใย และซับน้ำได้ดีเช็ดเครื่องมือแพทย์ (Lint-Free Towel)
4.เครื่องมือแพทย์ที่มีลักษณะเป็นสายหรือท่อกลวง ทำให้แห้งโดยใช้เครื่องอัดอากาศที่มีตัวกรองที่ใช้สำหรับเครื่องมือแพทย์เท่านั้น
การตรวจสอบความสะอาดเครื่องมือแพทย์
หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ตามวิธีต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ควรมีการตรวจสอบความสะอาดของเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องมือแพทย์ผ่านการทำความสะอาดตามมาตรฐาน สิ่งสำคัญอันดับแรกในการตรวจสอบความสะอาดและสภาพความสมบูรณ์ของเครื่องมือแพทย์คือ การตรวจสอบด้วยตา เครื่องมือจะต้องปราศจากคราบสกปรกตกค้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณข้อต่อ ตามร่องฟันปลา เดือย และจุดหมุนของเครื่องมือ รวมถึงการตรวจสอบคราบสนิม รอยร้าว รอยขีดข่วน ที่อาจทำให้การขจัดคราบสกปรกตกค้างเป็นไปได้ยาก ควรใช้แว่นขยายชนิดที่มีไฟส่องในการตรวจสอบ (Magnifying Lamp) จะช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ควรตรวจสอบร่วมกับวิธีตรวจสอบอื่นๆ เช่น ชุดตรวจสอบคราบโปรตีน (Protein Test) ATP Test (Adenosine Triphosphate) ชุดตรวจสอบคราบเลือด (Hemoglobin Test) ผู้ปฏิบัติงานควรศึกษาข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิต และเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับสิ่งปนเปื้อนบนเครื่องมือแพทย์
...........................................................................
ตอนที่ 1 นิยามศัพท์: หลักการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ
ตอนที่ 2 หลักการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ
ตอนที่ 3 การทำให้ปราศจากเชื้อ วิธีการทางกายภาพ (Physical Method)
ตอนที่ 4 การทำให้ปราศจากเชื้อ วิธีการทางเคมี (Chemical Method)
ตอนที่ 5 การทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ (Cleaning of Medical Devices)
ตอนที่ 6 การเลือกใช้สารทำความสะอาด (Detergent)
ตอนที่ 8 การเตรียมก่อนทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์
...........................................................................
- https://www.cssd-gotoknow.org/
- https://www.angelicteam.com/