การทำให้ปราศจากเชื้อ (Sterilization)

ตอนที่ 4 # การทำให้ปราศจากเชื้อ

...........................................................................

การทำให้ปราศจากเชื้อ (Sterilization)

2. วิธีการทางเคมี (Chemical Method)

        การทำให้ปราศจากเชื้อด้วยวิธีนี้ ใช้กับเครื่องมือแพทย์ที่ไม่สามารถทนความร้อนและความชื้นได้ แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การอบแก๊สและการใช้น้ำยาทำลายเชื้อระดับสูง



ภาพ: การทำให้ปราศจากเชื้อด้วยวิธีการทางเคมี


2.1 การทำให้ปราศจากเชื้อด้วยการอบแก๊ส

            2.1.1 เอทธิลีนออกไซด์ (Ethylene Oxide: EO)

            เป็นแก๊สมีพิษ ไม่มีสี สามารถติดไฟและระเบิด ที่ความเข้มข้นต่ำจะไม่มีกลิ่น นำไปใช้ในการทำให้เครื่องมือแพทย์ที่ทนความร้อนและความชื้นไม่ได้ปราศจากเชื้อ เช่น พลาสติกที่มีจุดหลอมละลายต่ำ วัสดุที่มีเนื้อพรุนได้ทุกชนิด (All porous materials) หากใช้กับอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นท่อกลวงยาว และเส้นผ่าศูนย์กลางควรปฏิบัติตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต (IFU) EO ไม่สามารถแทรกซึมผ่านโลหะ แก้ว สารหล่อลื่นที่ทำจากปิโตรเลียม ห้ามใช้กับน้ำมัน ของเหลว และแป้งฝุ่น การนำเครื่องมือที่มีรูพรุนมาอบ EO ซ้ำหลายๆ ครั้ง อาจทำให้เกิดการสะสมของแก๊สจนเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้

            ปัจจัยที่มีผลต่อการทำให้ปราศจากเชื้อด้วยเอทธิลีนออกไซด์ ได้แก่ อุณหภูมิ ความเข้มข้นของแก๊ส ความชื้น และเวลา หากใช้ความเข้มข้นและอุณหภูมิสูงขึ้นจะใช้ระยะเวลาทำให้ปราศจากเชื้อลดลง ระหว่างขั้นตอนการทำให้ปราศจากเชื้อห้ามเปิดช่องอบเด็ดขาด การอบด้วย EO สามารถทำลายสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียด้วยวิธีการ alkylation ที่ช่วยป้องกันการเผาผลาญสารอาหารและแบ่งตัวของเซลล์ของเชื้อจุลชีพ ทำให้เซลล์ของเชื้อแตกและทำหน้าที่ไม่ได้ ในการประเมินประสิทธิภาพการทำให้ปราศจากเชื้อวิธีนี้ ใช้สปอร์ของเชื้อ Bacillus atrophaeus ซึ่งมีความคงทนมากกว่าเชื้ออื่นๆ

เครื่องอบแก๊ส EO แบ่งออกตามลักษณะของ EO ที่ใช้ได้เป็น 2 แบบคือ

  • ระบบแก๊ส EO บริสุทธิ์ (EO 100%) บรรจุอยู่ในหลอดขนาดเล็ก 100-170 กรัม ซึ่งสามารถควบคุมความเข้มข้นของแก๊สให้คงที่ได้ ระบบนี้เครื่องจะทำงานที่ความดันต่ำกว่าความดันบรรยากาศ
  • ระบบแก๊ส EO ผสมกับแก๊สเฉื่อยบรรจุในถังขนาดใหญ่ 20-30 กิโลกรัม ซึ่งระดับความเข้มข้นของแก๊ส EO อาจไม่แน่นอน เนื่องจากความหนาแน่นของแก๊สเฉื่อยที่ผสมในถังบรรจุอาจไม่สม่ำเสมอ ระบบนี้เครื่องจะทำงานที่ความดันสูงกว่าความดันบรรยากาศ หากใช้เครื่องระบบแก๊สผสม ควรมีการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องอย่างสม่ำเสมอ หากเครื่องมีปัญหาอาจทำให้แก๊สรั่วออกมาภายนอก

2.1.2 ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์แก๊สพลาสม่า (Hydrogen Peroxide Gas Plasma)

            ระบบไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์แก๊สพลาสม่า สามารถทำลายเชื้อจุลชีพทุกชนิดรวมทั้งสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียที่อุณหภูมิต่ำ เหมาะสำหรับเครื่องมือแพทย์ที่ไวต่อความร้อนและความชื้น เป็นระบบที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารพิษตกค้าง สารสุดท้ายหลังเสร็จกระบวนการ คือ แก๊สออกซิเจนและละอองไอน้ำ ใช้ได้กับเครื่องมือที่ทำด้วยโลหะและไม่ใช่โลหะ รวมทั้งเครื่องมือที่มีส่วนที่ยากต่อการทำความสะอาด เช่น ลักษณะที่เป็นท่อ และ Endoscope ตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต ไม่ควรใช้กับวัสดุที่ทำมาจากเซลลูโลส ผลิตภัณฑ์จากกระดาษและอุปกรณ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เนื่องจากวัสดุดังกล่าวจะดูดซึม Hydrogen Peroxide และรบกวนกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อ การประเมินประสิทธิภาพการทำให้ปราศจากเชื้อวิธีนี้ใช้สปอร์ของเชื้อ Geobacillus stearothermophilus ซึ่งทนทานต่อการทำลายด้วยแก๊สไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

2.1.3 ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde)

            ฟอร์มัลดีไฮด์เป็นแก๊สมีพิษ ละลายในน้ำได้ดี การใช้ในระบบการทำให้ปราศจากเชื้ออยู่ในรูปของสารละลาย (Formalin Solution) มีลักษณะใส ไม่มีสี แต่มีกลิ่นที่ระคายเคืองจมูกและลำคออย่างมาก เป็นสารก่อมะเร็งได้หากสัมผัสในปริมาณมากเป็นเวลานาน การทำให้ปราศจากเชื้อด้วย Low-Temperature Steam Formaldehyde Sterilizer (LTFS) เป็นการใช้ส่วนผสมของสารละลายฟอร์มัลดีไฮด์และไอน้ำที่อุณหภูมิ 50-80 องศาเซลเซียส ความชื้นของไอน้ำจะช่วยทำให้ฟอร์มัลดีไฮด์แทรกซึมเข้าไปในห่อเครื่องมือได้ง่าย เมื่อครบกำหนดเวลาของการทำให้ปราศจากเชื้อแล้ว ฟอร์มัลดีไฮด์จะถูกดูด ออกใช้เวลาสั้นและเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อ สามารถนำเครื่องมือแพทย์ไปใช้ได้ทันที ไม่มีสารตกค้าง วิธีนี้ใช้กับเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการล้างไต (Hemodialysis)

...........................................................................

ตอนที่ นิยามศัพท์: หลักการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ

ตอนที่ หลักการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ

ตอนที่ การทำให้ปราศจากเชื้อ วิธีการทางกายภาพ (Physical Method) 

ตอนที่ การทำให้ปราศจากเชื้อ วิธีการทางเคมี (Chemical Method)

ตอนที่ การทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ (Cleaning of Medical Devices)

ตอนที่ การเลือกใช้สารทำความสะอาด (Detergent)


  • https://www.cssd-gotoknow.org/
  • https://www.angelicteam.com/

[Angelicteam – Design Healthcare Solutions โซลูชันด้านสุขภาพ – นิยามใหม่ของความเป็นเลิศด้านงานปลอดเชื้อ]



                                               

◉ ดูข้อมูลเพิ่มเติม ตามหมวดหมู่เนื้อหา >>

แสดงเพิ่มเติม