การทำลายเชื้อ Disinfection-1


การทำลายเชื้อ Disinfection

การทำลายเชื้อ หมายถึง การกำจัดเชื้อจุลชีพที่ปนเปื้อนบนอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ หรือบนพื้นผิวต่างๆ การทำลายเชื้อทำได้โดยการใช้สารเคมี หรือใช้วิธีการทางกายภาพ เช่น การใช้ความร้อน

สารเคมีที่ใช้ทำลายเชื้อบนเครื่องมือหรือบนพื้นผิวต่างๆ เรียกว่า น้ำยาทำลายเชื้อ (Disinfectants)
สารเคมี ที่ใช้ทำลายเชื้อที่ผิวหนังและส่วนต่างๆ ของร่างกาย เรียกว่า น้ำยาระงับเชื้อ (Antiseptics)

ระดับการทำลายเชื้อ แบ่งตามประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อได้เป็น 3 ระดับคือ

-การทำลายเชื้อระดับสูง (High-level disinfection)
-การทำลายเชื้อระดับกลาง (Intermediate-level disinfection)
-การทำลายเชื้อระดับต่ำ (Low-level disinfection)

การทำลายเชื้อระดับสูง (High-level disinfection)

อุปกรณ์ในกลุ่ม critical items บางชนิดทนความร้อนไม่ได้ เช่น อุปกรณ์ที่ทำด้วยพลาสติก หรือเคลือบด้วยพลาสติกจะต้องทำให้ปราศจากเชื้อโดยใช้วิธีซึ่งไม่ใช้ความร้อนสูง ได้แก่ การอบแก๊ส ethylene oxide หรือการใช้น้ำยาทำลายเชื้อที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อสูง กล้องส่องตรวจอวัยวะภายใน

เช่น laparoscopes หรือ Arthroscope แม้ว่าจะใช้สอดใส่เข้าไปในส่วนของร่างกายที่ปราศจากเชื้อ
แต่วิธีการที่ยอมรับในการทำลายเชื้ออุปกรณ์ประเภทนี้คือ การทำลายเชื้อระดับสูง ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมกับอุปกรณ์และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงระหว่างการใช้กับผู้ป่วย

น้ำยาทำลายเชื้อระดับสูงสามารถทำลายสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียได้ จึงสามารถทำให้อุปกรณ์ปราศจากเชื้อได้ แต่ต้องแช่อุปกรณ์ในน้ำยาเป็นระยะเวลานาน จึงอาจเรียกน้ำยาทำลายเชื้อระดับสูงว่า Chemosterilant หรือ Cold sterilant

สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ ระยะเวลาที่อุปกรณ์สัมผัสน้ำยา เป็นปัจจัยที่แยกระหว่างการทำให้ปราศจากเชื้อและการทำลายเชื้อระดับสูงโดยใช้น้ำยาทำลายเชื้อ

น้ำยาทำลายเชื้อ ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำลายเชื้อระดับสูง ได้แก่ Glutaraldehyde, Chlorine Dioxide, Hydrogen Peroxide และ Peracetic Acid น้ำยาทำลายเชื้อเหล่านี้ The U.S. Environmental Protection Agency (EPA) ยอมรับว่าเป็นได้ทั้งน้ำยาที่ทำให้ปราศจากเชื้อและน้ำยาทำลายเชื้อ 

แม้ว่าน้ำยาทำลายเชื้อระดับสูงจะสามารถทำให้อุปกรณ์ปราศจากเชื้อได้ แต่จะต้องดูแลให้ทุกส่วนของอุปกรณ์สัมผัสน้ำยาทำลายเชื้อในระยะเวลาที่นานพอ อุณหภูมิและระดับความเป็นกรดด่างของน้ำยาเหมาะสม

การทำให้ปราศจากเชื้อโดยใช้น้ำยาทำลายเชื้อระดับสูง มีโอกาสเกิดความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานได้มากกว่าวิธีการทางกายภาพ เมื่อแช่น้ำยาแล้วจะต้องล้างอุปกรณ์ด้วยน้ำกลั่นปราศจากเชื้อ เช็ดให้แห้งด้วยความระมัดระวังโดยใช้ผ้าที่ปราศจากเชื้อและหากไม่ได้นำอุปกรณ์ไปใช้ทันที จะต้องเก็บอุปกรณ์ในภาชนะที่ปราศจากเชื้อเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการปนเปื้อนเชื้อซ้ำ

การทำลายเชื้อระดับกลาง (Intermediate-level disinfection)

การทำลายเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มน้ำยาทำลายเชื้อระดับกลาง ได้แก่ แอลกอฮอล์ (70-90% Ethanol หรือ Isopropanol), Chlorine Compounds, Phenolic และ Iodophor แม้ว่าน้ำยาทำลายเชื้อระดับกลางจะมีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อไวรัสได้อย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่สามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ทุกชนิด น้ำยาทำลายเชื้อที่มีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อวัณโรคสามารถทำลาย Small non-lipid virus 

เช่น Poliovirus, Coxsackie virus ได้ 70% ethanol และ 70% Isopropanol สามารถทำลายเชื้อไวรัสได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังสามารถทำลายเชื้อวัณโรคได้อย่างรวดเร็วด้วย

การทำลายเชื้อระดับต่ำ (Low-Level Disinfection)

การทำลายเชื้อระดับต่ำ สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราบางชนิด แต่ไม่สามารถทำลายเชื้อที่มีความคงทน เช่น Tubercle bacilli หรือสปอร์ของแบคทีเรียได้ การทำลายเชื้อวิธีนี้เหมาะสำหรับใช้กับอุปกรณ์ประเภท Non-critical items น้ำยาทำลายเชื้อในกลุ่มนี้ 

ได้แก่ Quaternary Ammonium Compounds, Iodophors หรือ Phenolics บางชนิด Iodophors และ Phenolics จะจัดอยู่ในประเภท Inter-mediate หรือ Low-level ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของ active ingredient ที่อยู่ในน้ำยา

ระดับการทำลายเชื้อ

คุณสมบัติของ Antiseptic และ Disinfectant ที่ควรเลือกใช้

คุณสมบัติที่ดีของ Antiseptic

1.-สามารถทำลายเชื้อจุลชีพบนผิวหนังได้
2.-สามารถใช้ได้สะดวก
3-.มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อจุลชีพได้หลายชนิด
4.-สามารถใช้ได้กับทุกส่วนของร่างกาย ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกวัยโดยไม่มีอันตราย
5.-ไม่ถูกทำลายโดยโปรตีนจากเลือด สารคัดหลั่ง จากสบู่หรือ สารอื่นๆ

คุณสมบัติที่ดีของ Disinfectant

1.-สามารถทำลายเชื้อได้ดี (high activity) และทำลายเชื้อได้หลายชนิด (broad spectrum)
2.-ไม่กัดกร่อนโลหะ หรือทำลายอุปกรณ์ประเภทยาง
3.-ไม่ทำให้เกิดสีติดภาชนะที่บรรจุ
4.-ไม่ถูกทำให้เสื่อมสภาพหรือทำให้มีประสิทธิภาพลดลงเมื่อสัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือเนื้อเยื่อของร่างกาย
5.-ไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง หรือทำให้เกิดอาการแพ้ และไม่มีอันตรายต่อร่างกาย
6.-ไม่มีกลิ่น หรือกลิ่นไม่เหม็น
7.-ทนความร้อน
8.-มีความคงตัว แม้ในภาวะความเป็นกรดด่างที่เปลี่ยนแปลงไป
9.-คงประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อ แม้เก็บไว้ใช้เป็นเวลานาน
10.-ละลายได้ดีในน้ำ สามารถผสมน้ำเพื่อลดความเข้มข้นโดยยังคงมีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อ
11.-ไม่ทำให้เกิดพิษตกค้างหลงการใช้
12.-มีคุณสมบัติในการทำความสะอาด
13.-ราคาไม่แพง

การทำลายเชื้อในโรงพยาบาลอาจแบ่งตามวัตถุประสงค์ได้เป็น 3 ข้อคือ

การทำลายเชื้อในอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Disinfection of Hospital Equipment)การทำลายเชื้อในสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาล (Disinfection of Hospital Environment)การทำลายเชื้อที่ผิวหนังและเยื่อบุของร่างกาย (Disinfection of Skin and Mucous Membrane)

การเลือกชนิดและประเภทของน้ำยาทำลายเชื้อ รวมทั้งความเข้มข้นของน้ำยาทำลายเชื้อที่ควรใช้ ควรกำหนดตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เพราะน้ำยาทำลายเชื้อเพียงชนิดเดียว ไม่สามารถใช้ได้กับทุกวัตถุประสงค์ การมีนโยบายการทำลายเชื้อจะช่วยลดจำนวนชนิดของน้ำยาทำลายเชื้อและความเข้มข้นของน้ำยาทำลายเชื้อแต่ละชนิดที่จะใช้

◉ ดูข้อมูลเพิ่มเติม ตามหมวดหมู่เนื้อหา >>

แสดงเพิ่มเติม