การทำให้ปราศจากเชื้อด้วยการอบแก๊ส Ethylene Oxide (Eto)

แก๊ส EO ใช้ในการทำให้อุปกรณ์ปราศจากเชื้อ หรือเครื่องมือที่ทนความร้อนและความชื้นไม่ได้, EO เป็นสารเคมีที่สามารถทำลายเชื้อจุลชีพ และสปอร์ของเชื้อแบคทีเรีย

คุณสมบัติของแก๊ส EO

แก๊ส EO มีพิษ ไม่มีสี ที่ความเข้มข้นต่ำจะไม่มีกลิ่น แต่ที่ความเข้มข้นสูงกว่า 700 ppm. จะมีกลิ่นคล้ายอีเธอร์  หากมีความเข้มข้นสูงกว่า 3% อาจเกิดการระเบิดได้ EO สามารถทำลายเชื้อจุลชีพทุกชนิดรวมทั้งสปอร์ของเชื้อ Bacillus subtilis ซึ่งมีความคงทนมากกว่าเชื้ออื่นๆ ในการประเมินประสิทธิภาพการทำให้ปราศจากเชื้อด้วย EO จึงใช้เชื้อ B.subtilis เป็นตัวบ่งชี้ แก๊ส EO ไม่กัดกร่อนและไม่ทำให้พลาสติกหรือยางเสื่อมคุณภาพ แก๊สนี้สามารถแทรกซึมเข้าสู่ห่ออุปกรณ์และแพร่กระจายไปสัมผัสอุปกรณ์ได้รวดเร็ว

EtO Sterilizer

EtO Sterilizer

EtO Sterilizer

ระบบเครื่องอบแก๊ส EO

เครื่องอบแก๊ส EO แบ่งออกตามลักษณะของแก๊ส EO ที่ใช้ได้เป็น 2 ระบบคือ

-ระบบแก๊ส EO บริสุทธิ์ (100% EO) ใช้แก๊ส EO ที่บรรจุอยู่ในหลอดขนาดเล็ก สามารถควบคุมความเข้มข้นของแก๊สให้คงที่ได้ ระบบนี้จะเป็นระบบที่ใช้ความดันต่ำกว่าความดันบรรยากาศ

-ระบบแก๊ส EO ผสมกับแก๊สเฉื่อยอื่นๆ เช่น ผสมกับฟรีออน (CFC) หรือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งโดยทั่วไปจะบรรจุในถังขนาดใหญ่ 25 – 30 กิโลกรัม ระบบนี้มีจุดอ่อนคือ ระดับความเข้มข้นของแก๊ส EO อาจไม่แน่นอนหรือไม่เพียงพอ ทั้งนี้เนื่องจากความหนาแน่นของแก๊สเฉื่อยที่ผสมในถังบรรจุอาจไม่สม่ำเสมอ และระบบนี้เครื่องจะทำงานที่ความดันสูงกว่าความดันบรรยากาศ

ระบบแก๊ส EO บริสุทธิ์ (100% EO) 
ระบบแก๊ส EO ผสมกับแก๊สเฉื่อยอื่นๆ 


ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการทำให้ปราศจากเชื้อด้วยแก๊ส EO

อุณหภูมิ (Temperature)

  • อุณหภูมิสูงขึ้นจะช่วยให้การแทรกซึมของแก๊ส EO ดีขึ้น และช่วยลดระยะเวลาที่อุปกรณ์ต้องสัมผัสกับแก๊ส EO ลง การทำงานของแก๊ส EO จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.74 เท่า หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นทุก 10 องศาเซลเซียส 
  • การทำให้ปราศจากเชื้อด้วยแก๊ส EO อุณหภูมิที่ใช้จะอยู่ระหว่าง 49 – 60 องศาเซลเซียส

ความเข้มข้นของแก๊ส EO

ความเข้มข้นต่ำที่สุดของแก๊ส EO ที่นิยมใช้ในการทำให้ปราศจากเชื้อคือ 450 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งจะใช้เวลาในการทำให้ปราศจากเชื้อไม่นานเกินไป  การใช้แก๊สที่มีความเข้มข้นสูงถึง 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร จะช่วยให้ระยะเวลาที่ใช้ในการสัมผัสแก๊สลดลงครึ่งหนึ่ง แต่การใช้ความเข้มข้นสูงกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร ไม่มีผลต่อระยะเวลาที่ใช้ในการทำให้อุปกรณ์ปราศจากเชื้อ  อย่างไรก็ตาม เครื่องอบแก๊ส EO ที่ใช้ในโรงพยาบาลทั่วไปจะใช้ความเข้มข้นของแก๊ส EO ระหว่าง 700 – 1,200 มิลลิกรัมต่อลิตร เพื่อให้แก๊สสามารถแทรกซึมผ่านวัสดุที่ใช้ห่ออุปกรณ์ได้สะดวก

ความชื้น (Humidity) 

ความชื้นจะช่วยเร่งปฏิกิริยาระหว่าง EO กับโปรตีนของเชื้อแบคทีเรีย โดยปกติจะใช้ความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 30 – 60% โดยการพ่นน้ำเข้าไปในช่องอบ  เมื่อองค์ประกอบทั้งสามเป็นไปตามที่กำหนดจะต้องใช้ระยะเวลาในการทำให้ปราศจากเชื้อนานระหว่าง 1 ½ - 6 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น ที่ระดับความชื้นสัมพัทธ์ 30 – 50% ที่อุณหภูมิ 50 – 60 องศาเซลเซียส จะต้องใช้เวลาในการทำให้ปราศจากเชื้อนาน 4 ชั่วโมง ระดับความชื้นสัมพัทธ์ที่ใช้ในการทำให้ปราศจากเชื้อด้วยแก๊ส EO ที่ใช้ในโรงพยาบาลและโรงงานอุตสาหกรรรม อยู่ระหว่าง 50 – 90% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของอุปกรณ์ที่ต้องการทำให้ปราศจากเชื้อ  หากเครื่องอบแก๊ส EO ใช้อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส ควรใช้ความชื้นสัมพัทธ์ 70%

เวลา (Time) 

ระยะเวลาที่ใช้ในการทำให้อุปกรณ์ปราศจากเชื้อโดยใช้แก๊ส EO ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิภายในช่องอบด้วย หากใช้อุณหภูมิต่ำจะต้องใช้ระยะเวลาในการที่แก๊สสัมผัสกับอุปกรณ์นานขึ้นกว่าการใช้อุณหภูมิสูง

ข้อดีของ EO

  • สามารถใช้ทำให้อุปกรณ์ที่ไม่สามารถทนความร้อน เช่น พลาสติก ที่มีจุดหลอมละลายต่ำ ปราศจากเชื้อEO เป็นวิธีการทำให้ปราศจากเชื้อที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับอุปกรณ์ที่อาจถูกกัดกร่อนโดยไอน้ำและความชื้น
  • EO สามารถแทรกซึมผ่านวัสดุที่มีลักษณะเนื้อวัสดุเป็นรูพรุนได้ทุกชนิด (all porous materials) แต่ EO ไม่สามารถแทรกซึมผ่านโลหะ แก้ว และสารหล่อลื่นที่ทำจาก petroleum ได้ จะสามารถแทรกซึมผ่านน้ำมัน ของเหลว หรือแป้งได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารเหล่านี้ที่บรรจุในภาชนะ หากมีการให้สารเหล่านี้เป็นชั้นบางๆ EO จะสามารถแทรกซึมผ่านได้
  • เครื่องอบแก๊ส EO ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ จึงช่วยลดความผิดพลาดจากผู้ปฏิบัติได้

ข้อเสียของ EO

  • การทำให้ปราศจากเชื้อโดยใช้ EO มีกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้ต้องมีการควบคุมกำกับการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด
  • การทำให้ปราศจากเชื้อโดยใช้ EO เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าการทำให้ปราศจากเชื้อโดยการใช้ไอน้ำ
  • เครื่องอบแก๊ส EO จะต้องออกแบบอย่างเหมาะสมเป็นพิเศษ จึงมักมีราคาแพง และแก๊ส EO เองก็มีราคาแพง
  • อุปกรณ์ที่ดูดซึมแก๊ส EO ขณะอยู่ในกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อ เช่น อุปกรณ์ที่ทำจากยาง polyethylene หรือ silicone จะต้องผ่านการระบายอากาศก่อนนำไปใช้กับผู้ป่วย
  • การนำอุปกรณ์ไปทำให้ปราศจากเชื้อโดยใช้ EO หลายๆ ครั้งหากไม่ผ่านการระบายอากาศด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม อาจทำให้เกิดการสะสมของ EO ทำให้ความเข้มข้นของ EO ในอุปกรณ์ที่ทำจากวัสดุที่มีรูพรุนสูงขึ้น
  • EO มีอันตรายต่อผิวหนังและเยื่อบุของร่างกาย การหายใจแก๊ส EO เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ 
  • การสัมผัส EO มากเกินกว่ามาตรฐาน เป็นเวลานานทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เพราะ EO เป็นสารก่อมะเร็ง อาจทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือด เป็นสารที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ gene อาจทำให้เกิดการแท้ง เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม เนื่องจากการทำลายโครโมโซมและความผิดปกติของระบบประสาท

อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ที่สามารถทำให้ปราศจากเชื้อด้วยการอบแก๊ส EO

ประเภทของอุปกรณ์
ตัวอย่างอุปกรณ์
Anesthetic and respiratory therapy equipment
  • Airways
  • Endotracheal tubes
  • Masks (other rubber items)
  • Tourniquets
Cardiac equipment
  • Cardiac catheters
  • Heart-lung apparatus
  • Transducers
Devices and materials for implantation
  • Breast implants
  • Cardiac pacemakers and leads
  • Cardiac valves
  • Orthopedic prostheses
Diathermy equipment
  • Tissue implants
  • Cautery pencils
  • Cautery tips
  • Electrical leads
Endoscopic instruments
  • Arthroscopes
  • Cystoscopes
  • Laparoscopes
  • Resectoscopes

ประเภทของอุปกรณ์
ตัวอย่างอุปกรณ์
Medical and dental equipment
  • Centrifuge bowls (for blood cell separation)
  • Cryoprobes
  • Dental handpieces
  • Dermatomes (some types)
  • Drills (battery powered)
  • Electronic equipment
  • Mechanical ventilators
  • Microsurgical accessories
  • Nebulizers
  • Oxygen tents
  • Plastic bath linings
  • Urological stone extractors
ที่มา Garner, J.F., & Peel, M.M. (1991). Introduction to Sterilization,Disinfection and Infection Control. (2nd ed.). Melbourne: Churchill Livingstone. Page 99. 

การเตรียมอุปกรณ์เพื่อนำไปทำให้ปราศจากเชื้อด้วยแก๊ส EO

การทำความสะอาดอุปกรณ์ ควรล้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือให้สะอาด เช็ดอุปกรณ์หรือเครื่องมือให้แห้งสนิท อุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นท่อ มีรูกลวง ควรเป่าให้ภายในท่อแห้ง ก่อนที่จะห่ออุปกรณ์เพราะน้ำเมื่อรวมกับ EO จะทำให้เกิดกรด Ethylene glycol

การห่ออุปกรณ์ วัสดุที่ใช้ห่ออุปกรณ์เพื่อนำไปทำให้ปราศจากเชื้อด้วยแก๊ส EO ได้แก่

กระดาษ (Paper)

  • Two-way crepe paper EO และความชื้นสามารถแทรกซึมผ่านเข้าได้ แต่กระดาษประเภทนี้จะไม่มีความยืดหยุ่น จึงอาจจะทำให้อุปกรณ์เกิดการปนเปื้อนขณะนำอุปกรณ์ออกมาจากท่อ
  • Kraft-type paper EO และความชื้นสามารถแทรกซึมผ่านเข้าได้
  • เทอร์โมพลาสติก อาจมีลักษณะใสหรือขุ่นก็ได้ ความหนาของฟิล์มอยุ่ในระหว่าง 2 – 4 mil (1 mil = 1/1000 นิ้ว) และต้องสามารถปิดผนึกได้โดยใช้ความร้อน
  • พลาสติก-กระดาษ เป็นวัสดุที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปเนื่องจากสามารถนำไปอบไอน้ำและแก๊ส EO ได้ ความหนาของฟิล์มพลาสติกอยู่ในช่วง 2 – 4 mil และพลาสติกต้องสามารถปิดผนึกร่วมกับกระดาษได้

Spun-bonded polyolefin 

ชื่อทางการค้าคือ Tyvek® โดยทั่วไปจะใช้ ในอุตสาหกรรมการบรรจุเครื่องมือแพทย์ ด้านหนึ่งจะทำจาก polyolefin ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นพลาสติก ข้อดีของวัสดุนี้คือ มีความแข็งแรง ทนทาน สามารถป้องกันความชื้นได้ดี ข้อเสียคือ ใช้ได้สำหรับการอบด้วยแก๊ส EO เท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในการอบไอน้ำได้


Eto pouches

วัสดุสังเคราะห์ (Nonwoven) 

ทำจากโพลีโพรพีลิน เซลลูโลส โพลิเอสเทอร์ หรือเซลลูโลสไฟเบอร์ วัสดุดังกล่าวจะมีความยืดหยุ่นดี สามารถนำอุปกรณ์ออกจากห่อมาใช้ได้โดยไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อน

สิ่งทอ (Textiles)  

ทำจากเส้นใยธรรมชาติ ลินิน โพลิเอสเทอร์คอตต้อน โดยทั่วไปสิ่งทอจะดูดซึมเอาความชื้นไว้ในปริมาณมาก ดังนั้นต้องระวังว่าภายในเครื่องอบจะต้องมีการออกแบบเพื่อชดเชยความชื้นที่ถูกดูดซับโดยสิ่งทอดังกล่าวต้องมีการตรวจสอบผ้าก่อนที่จะนำมาใช้ใหม่ทุกครั้งว่ามีรูหรือการฉีกขาดหรือไม่

วัสดุที่ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการห่ออุปกรณ์ที่จะนำเข้าอบแก๊ส EO

  • อลูมิเนียมฟอยล์ เนื่องจาก EO ไม่สามารถแทรกซึมผ่านได้
  • เซลโลเฟน (Cellophane) เนื่องจาก EO แทรกซึมผ่านเข้าออกได้ช้า
  • ไนลอน เนื่องจาก EO ซึมผ่านเข้าไปได้ช้า
  • โพลีเอสเทอร์ (Mylar) เนื่องงจากการซึมผ่านของ EO เป็นไปได้ช้า
  • โพลิไวนิลลีดีน คลอไรด์ เนื่องจาก EO ซึมผ่านเข้าออกได้ช้า
  • ภาชนะแก้วหรือโลหะที่มีการปิดฝาสนิท EO ไม่สามารถแทรกซึมผ่านได้ 
  • พลาสติกที่มีความหนาเกินไป การซึมผ่านของ EO เป็นไปได้ช้า 

การนำห่ออุปกรณ์เข้าเครื่องอบแก๊ส EO

การจัดเรียงห่ออุปกรณ์เข้าเครื่องอบแก๊ส EO ทำเช่นเดียวกับการนำห่ออุปกรณ์เข้าเครื่องนึ่งไอน้ำ จะต้องให้มีช่องว่างระหว่างห่ออุปกรณ์ และมีช่องว่างระหว่างห่ออุปกรณ์กับผนังช่องอบทั้งด้านบนและด้านล่าง เพื่อให้การไหลเวียนและการแทรกซึมของแก๊สเป็นไปได้ดีและทั่วถึง ไม่ควรบรรจุห่ออุปกรณ์ในช่องอบแก๊สมากเกินไปเพราะจะทำให้แก๊ส ความชื้น และความร้อนแทรกซึมไม่ดี ทำให้กระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อไม่มีประสิทธิภาพ หากบรรจุอุปกรณ์ในซองที่ด้านหนึ่งเป็นพลาสติกอีกด้านหนึ่งเป็นกระดาษ จะต้องจัดเรียงให้ด้านที่เป็นพลาสติกติดกับกระดาษและจัดวางห่ออุปกรณ์ในลักษณะตะแคง

การจัดเรียงห่ออุปกรณ์เข้าเครื่องอบแก๊ส EO

การระบายอากาศ  (AERATION)

ห่ออุปกรณ์ทุกชนิดหลังผ่านกระบวนการอบด้วยแก๊ส EO จะยังมีแก๊ส EO ที่ดูดซึมเอาไว้ในปริมาณที่แตกต่างกันไปขึ้นอยุ่กับชนิดของวัสดุ ดังนั้นห่ออุปกรณ์ที่ผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อโดยใช้ EO จะต้องทิ้งไว้เพื่อให้แก๊ส EO ถูกระบายออกจากห่ออุปกรณ์จนหมดก่อน

อุปกรณ์ที่ทำจาก Polyvinyl chloride (PVC) ต้องใช้เวลาในการระบายอากาศนานที่สุด ส่วนพลาสติกอื่นๆ เช่น Polyethylene และ polypropylene จะใช้เวลาสั้นกว่า PVC   หากไม่แน่ใจว่าอุปกรณ์ประกอบด้วยสารชนิดใดบ้าง ควรใช้เวลาในการระบายอากาศนานเท่ากับที่ใช้กับ PVC

การระบายอากาศเพื่อขจัดแก๊ส EO ออกจากห่ออุปกรณ์ ไม่ควรนำห่ออุปกรณ์วางบนชั้นเปิดเพื่อให้ระบายอากาศในห้อง เพราะต้องใช้เวลานานถึง 7 วันหรือนานกว่าในการขจัดแก๊ส EO ออกให้หมด และผลที่ได้ไม่แน่นอน และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้

เครื่องระบายอากาศ (Mechanical aerator) จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ควบคู่ไปกับเครื่องอบแก๊ส EO โดยทั่วไปเครื่องระบายอากาศจะใช้อุณหภูมิระหว่าง 50 – 60 องศาเซลเซียส ขึ้นอยู่กับความทนต่อความร้อนของเครื่องมือ  อากาศที่ถูกดูดเข้าสู่เครื่องระบายอากาศจะต้องผ่านเครื่องกรองเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีประสิทธิภาพในการกรองสูง 99.97% ระบบการทำความร้อนควรเป็นระบบที่ตัดไฟได้โดยอัตโนมัติ เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกิดกว่า 5 องศาเซลเซียส 

ระยะเวลาที่ใช้ในการระบายอากาศขึ้นอยู่กับสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ส่วนประกอบ ความหนา ลักษณะ และน้ำหนักของเครื่องมือและวัสดุที่ใช้ห่ออุปกรณ์
  • ความเข้มข้นของแก๊ส EO อุณหภูมิและเวลาที่ใช้ในกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อ
  • อุณหภูมิและอัตราการไหลเวียนของอากาศ รวมทั้งลักษณะการไหลเวียนของอากาศภายในเครื่องระบายอากาศ
  • ขนาดและการจัดเรียงห่ออุปกรณ์เข้าเครื่องระบายอากาศ และปริมาณของวัสดุที่มีการดูดซับแก๊ส EO สูง ที่นำเข้าเครื่องระบายอากาศ
  • ลักษณะการใช้อุปกรณ์ เช่น เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ภายนอก (External) หรือต้องใส่ไว้ภายในร่างกายผู้ป่วย (Implant) 
  • ห่ออุปกรณ์ทุกห่อ ควรทิ้งไว้ในเครื่องระบายอากาศเป็นเวลานานอย่างน้อย 8 ชั่วโมงที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ถึง 12 ชั่วโมงที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส  ระยะเวลาในการระบายแก๊สขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิต หากเครื่องอบแก๊สมีทั้งระบบอบแก๊สและระบบระบายอากาศ 

ระยะเวลาระบายอากาศจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและการไหลเวียนอากาศ เช่น ที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 8 – 12 ชั่วโมง  ที่อุณหภูมิ 37 – 38 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 32 – 36 ชั่วโมง 

Material
Ambient room air
(18 – 22 OC)
Mechanical 50 OC
Aerator 60 OC
Metal and glass
Unwrapped
Wrapped

May be used immediately    2 hr.

2 hr.

2 hr.
Rubber for external use (not sealed in plastic)
24 hr.
8 hr.
5 hr.
Polyethylene and polypropylene for external use (not sealed in plastic)
48 hr.
12 hr.
8 hr.
Plastics except polyvinyl chloride items  (not sealed in plastic)
96 hr. (4 days)
12 hr.
8 hr.
Polyvinyl chloride
168 hr. (7 days)
12hr.
8 hr.
Plastic and rubber items                      (sealed in plastic and /or will come in contact with body tissues)
168 hr. (7 days)
12 hr.
8 hr.
Internal pacemaker
504 hr. (21 days)
32 hr.
24 hr.
ที่มา Atkinson, L.J. & Fortunato, N.H. (1996). Berry & Kohn’s Operating Room Technique. St. Louis : Mosby.  Page 229. 

การประเมินประสิทธิภาพของการทำให้ปราศจากเชื้อด้วยแก๊ส EO

การประเมินด้วยตัวบ่งชี้ทางกลไก  เพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจเกิดจากการทำงานของเครื่องอบแก๊สให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที การประเมินด้วยตัวบ่งชี้ทางกลไกสามารถประเมินได้จากมาตรวัดต่างๆ รวมทั้งรายละเอียดการทำงานที่พิมพ์จากเครื่อง

การประเมินด้วยตัวบ่งชี้ทางเคมี  ใช้ประเมินความผิดปกติหรือปัญหาที่เกิดจากการห่ออุปกรณ์และการนำห่ออุปกรณ์เข้าเครื่องไม่ถูกต้อง และความผิดปกติจากการทำงานของเครื่อง  ตัวบ่งชี้ทางเคมีที่ใช้สำหรับเครื่องอบแก๊ส EO มีทั้งที่เป็นตัวบ่งชี้ทางเคมีภายในและภายนอก

การประเมินด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ  ตัวบ่งชี้ทางกายภาพที่ใช้สำหรับเครื่องอบแก๊ส EO โดยการบรรจุสปอร์ของเชื้อ Bacillus subtilis var niger การทดสอบด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพควรดำเนินการทุกครั้งที่มีการทำให้อุปกรณ์ปราศจากเชื้อหากสามารถทำได้ หากไม่สามารถทดสอบได้ทุกครั้งที่ทำให้อุปกรณ์ปราศจากเชื้อได้ อย่างน้อยควรทดสอบด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสัปดาห์ละครั้ง   ในการทำให้อุปกรณ์ประเภทอวัยวะเทียมปราศจากเชื้อควรทดสอบด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพทุกครั้งและควรรอจนทราบผลการทดสอบก่อนจะนำอุปกรณ์ไปใช้กับผู้ป่วย

การใช้เครื่องอบแก๊ส EO อย่างปลอดภัย

  • ติดตั้งและตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องอบแก๊สและระบบระบายอากาศอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ
  • ควรเลือกเครื่องที่สามารถอบและระบายแก๊สได้ภายในเครื่องเดียวกัน 
  • ควรเลือกเครื่องที่มีระบบสัญญาณเตือนเมื่อเกิดความผิดปกติเกิดขึ้นภายในตัวเครื่อง
  • ตรวจสอบเลือกระดับการสัมผัสแก๊ส EO อย่างสม่ำเสมอ
  • เลือกใช้เครื่องอบแก๊สที่มีการออกแบบระบบความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานและได้มาตรฐาน
  • ติดตั้งระบบดูดอากาศและแก๊สบริเวณหน้าประตูเครื่อง
  • ใช้ตะแกรงหรือรถเข็นที่ทำจากโลหะในการใส่ของเพื่อนำเข้าอบ
  • อบรมและให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานในการใช้แก๊ส EO อย่างปลอดภัยและถูกต้อง
EtO gas monitoring

แนวทางปฏิบัติที่ปลอดภัยในการใช้แก๊ส EO (GUIDELINES FOR THE SAFE USE OF EO)

แนวทางปฏิบัตินี้เป็นเพียงแนวทางทั่วไปที่ควรปฏิบัติเมื่อใช้แก๊ส EO ผู้ปฏิบัติงานจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ของบริษัทผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด

  • เมื่อมีอาการหรืออาการแสดงจากการสัมผัส EO ให้รีบรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบทันที
  • ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องกับการใช้ EO จะต้องรู้วิธีใช้ การเก็บรักษา การดูแลแก้ไขเมื่อเกิดปัญหา  บริเวณหน่วยงานควรมีการจัดเตรียมเครื่องดับเพลิง และอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจไว้ให้พร้อมในกรณีฉุกเฉิน
  • หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อโดยใช้แก๊ส EO ผู้ปฏิบัติงานควรเปิดประตูเครื่องอบออกให้กว้างประมาณ 6 นิ้วฟุต  หรือตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต และออกจากบริเวณนั้นทันทีเป็นเวลานานอย่างน้อย 15 นาที
  • หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อแล้ว ไม่ควรปล่อยให้ห่ออุปกรณ์อยู่ภายในช่องอบแก๊สที่ปิดมิดชิด 
  • นำห่ออุปกรณ์ที่ปราศจากเชื้อไปเข้าเครื่องระบายอากาศเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยพยายามหยิบจับห่ออุปกรณ์ให้น้อยที่สุด  ไม่ทิ้งห่ออุปกรณ์ไว้นอกเครื่องระบายอากาศ
  • การระบายอากาศควรทำในเครื่องระบายอากาศเท่านั้น ไม่ควรทำในห้อง เว้นเสียแต่ว่าห้องนั้นออกแบบมาเพื่อการระบายอากาศโดยเฉพาะ
  • ผู้ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนถังบรรจุแก๊ส EO จะต้องสวมถุงมือและเครื่องป้องกันใบหน้า (Face Shield)  การเคลื่อนย้ายถังบรรจุแก๊ส EO จะต้องทำด้วยความระมัดระวัง
  • ไม่ควรเก็บถังบรรจุแก๊ส EO ไว้จำนวนมาก ควรมีใช้เท่าที่จำเป็น เนื่องจาก 100% EO ระเบิดได้
  • ควรมีการดูแลบำรุงรักษาเครื่องอบแก๊ส เครื่องระบายอากาศ และระบบถ่ายเทอากาศให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ
  • มีการประเมินระดับการปนเปื้อนของ EO ในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะๆ 

◉ ดูข้อมูลเพิ่มเติม (READ MORE) >>

แสดงเพิ่มเติม

◉ โพสต์ที่มีการดูมากที่สุด

การทำให้ปราศจากเชื้อ Sterilization

การบริหารงานจ่ายกลาง (Central Sterile Supply Management)

การเก็บห่ออุปกรณ์ที่ผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อ