พลาสมาฆ่าเชื้อโรคได้มั้ย?

4 เรื่อง ที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำให้ปราศจากเชื้อด้วยระบบไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ พลาสมา


ภาพ: Glow discharge plasma

การทำให้ปราศจากเชื้อด้วยระบบไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ พลาสมา

4 เรื่อง ที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำให้ปราศจากเชื้อด้วยระบบไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ พลาสมา
  1. การเกิดพลาสมามีไว้สำหรับฆ่าเชื้อ
  2. ระบบนี้ไม่มีอันตราย
  3. สปอร์ยังต้องรอผลมากกว่า 1 ชั่วโมง ดังนั้นรอบการทำงานที่เร็วไม่ได้ช่วยอะไร
  4. พลาสมาเกิดภายในChamber ดีกว่า ภายนอกchamber

จัดเป็นระบบการฆ่าเชื้อที่ใช้สารเคมีเป็นตัวทำลายเชื้อ โดยสามารถทำให้เชื้อถูกทำลายได้ในระดับการทำงานที่อุณหภูมิ ระหว่าง 45-55 oC สารเคมีที่ว่าคือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ในสภาพเป็นของเหลวที่มีความเข้มข้น 58% 

ภายหลังการปรับสภาพแวดล้อมภายในห้องอบ (chamber) จนเหมาะสมเพียงพอในการฆ่าเชื้อ เครื่องก็จะทำการ
ฉีดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และเปลี่ยนสภาพจากของเหลวให้กลายเป็นไอ หรือแก๊ส เข้าไปภายในห้องอบ

แก๊สก็จะแทรกซึมเข้าไปภายในห่ออุปกรณ์ แทรกซึมเข้าไปสัมผัสกับผิวของอุปกรณ์ โดยจะสัมผัสอยู่ในเวลานานพอที่จะสามารถฆ่าเชื้อได้ ในระดับ Sterilization เชื้อโรคที่หลงเหลืออยู่บนอุปกรณ์จะถูกทำลายด้วยคุณสมบัติทางเคมีของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

แต่เนื่องจากไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ จัดเป็นสารเคมีที่เป็นอันตราย ดังนั้นจะต้องกำจัดออกให้หมดโดยไม่ให้เกิดการตกค้างหลงเหลืออยู่ ทั้งบนอุปกรณ์ ภายในห้องอบ และสิ่งแวดล้อมภายนอก

เทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดป้องกันไม่ให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ตกค้างหลงเหลืออยู่ มีสองแบบ คือ
กำจัดภายในห้องอบ และ กำจัดภายนอกห้องอบ


ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ที่หลงเหลือจะถูกกำจัดด้วยการทำให้โมเลกุลไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ แตกตัวออกจนไม่สามารถกลับมารวมตัวกันเป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ได้อีก แต่ด้วยคุณสมบัติทางเคมี ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ที่แตกตัวออก ก็จะเปลี่ยนสภาพเป็น แก๊สออกซิเจน (O2) และ โมเลกุลของน้ำขนาดเล็ก (H2O) ส่วน ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ที่ไม่สามารแตกตัวได้ก็จะคงสภาพเดิมอยู่อย่างนั้น


ในขณะที่โมเลกุลของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ถูกทำให้แตกตัวออก ไม่ว่าจะโดยการใช้ คลื่นวิทยุ หรือ การใช้ความต่างศักย์สูงทางไฟฟ้า จะเกิดสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในทางฟิสิกส์ในขณะนั้น ซึ่งเรียกสภาวนั้นว่า สภาวะพลาสมา (Plasma stage) ซึงผลพลอยได้จากสภาวะพลาสมา อาจจะมีผลต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค

ดังนั้นในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการกำจัดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ถ้าทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างสมบูรณ์ End product หรือสารที่หลงเหลืออยู่ในขั้นตอนสุดท้ายก็คือ แก๊สออกซิเจน (O2) และ โมเลกุลของน้ำขนาดเล็ก (H2O)

เรื่องที่1 การเกิดพลาสมามีไว้สำหรับฆ่าเชื้อ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะ การเกิดพลาสมา เป็นผลที่เกิดจากการพยายามกำจัดการตกค้างของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ แต่สภาวะพลาสมาที่เกิดขึ้นอาจจะมีผลต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ส่วนการตายของเชื้อหรือการทำลายเชื้อจะเกิดขึ้นในขั้นตอนที่ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เข้มข้น 58% แทรกซึมเข้าไปสัมผัสกับผิวของอุปกรณ์ โดยจะสัมผัสอยู่ในเวลานานพอที่จะสามารถฆ่าเชื้อได้

เรื่องที่2 ระบบนี้ไม่มีอันตราย
เรื่องนี้ถ้าทุกขั้นตอนสามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ก็ไม่น่าจะมีหรือเป็นอันตราย แต่ในทางปฎิบัติจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะการที่เครื่องจะทำงานได้อย่างสมบูรณ์นั้นจะต้องเริ่มตั้งแต่ การเลือกอุปกรณ์ที่จะนำมาทำการฆ่าเชื้อที่เหมาะสม มีการเตรียมที่ถูกต้อง มีการจัดวางเรียงห่ออุปกรณ์ในห้องอบอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในกำจัดการตกค้างของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และสามากำจัดได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการตกค้างของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ สามารถเกิดขึ้นได้ อาจจะอยู่ในรูปของการตกค้างอยู่ในห้องอบ ในอุปกรณ์หรือแม้กระทั่งบริเวณโดยรอบก็ตาม การตรวจวัดปริมาณการตกค้างของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยง

เรื่องที่3 การตรวจสอบด้วยสปอร์ยังต้องรอผลมากกว่า 1 ชั่วโมง ดังนั้นรอบการทำงานที่เร็วไม่ได้ช่วยอะไร
เรื่องนี้ค่อนข้างจะดรามา ศรีธนญชัยอยู่ซักหน่อย ที่พูดเช่นนี้เพราะว่า (บริษัท ขายเครื่อง ขายสปอร์เทสต์ สาดกันไปกันมาจนผู้ใช้มึน เลยหลงทาง เข้าทางเป็นแนวร่วมไปด้วย) โดยปรกติการทำงานของเครื่องตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการฆ่าเชื้อนั้นใช้เวลาอย่างช้าไม่เกินหนึ่งชั่วโมงด้วยเทคโนโลยีของเครื่องในปัจจุบัน ดังนั้นการทำงานที่เร็วย่อมเกิดประโยชน์แน่นอน สำหรับการทำการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อด้วยการทำสปอร์เทสต์ ในรอบไหนที่มีการทำก็ต้องรอผล ซึ่งอาจใช้เวลาตั้งแต่ 2 ชั่วโมงจนถึง 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าเลือกใช้แบบไหน ส่วนรอบที่ไม่มีการทำทดสอบสปอร์เทสต์ก็สามารถจ่ายของออกไปได้เลยถ้า พารามิเตอร์อื่นๆ สามารถยืนยันแทนได้

เรื่องที่4 พลาสมาเกิดภายในChamber ดีกว่า ภายนอกchamber
เรื่องนี้ค่อนข้างไปทางเทคนิคครับ
     การเกิดพลาสมาภายในChamber 

  • ข้อดีคือ ผลพลอยได้จากการเกิดสภาวะพลาสมา อาจไปช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้อีกทางหนึ่งหากยังคงมีเชื้อหลงเหลืออยู่
  • ข้อด้อยคือ ถ้าหากเกิดพลาสามาไม่สมบูรณ์ จะทำให้เกิดการตกค้างของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ อยู่ในห้องอบ สังเกตได้จากคราบหรือสารตกต้างที่อยู่ภายในห้องอบ
     การเกิดพลาสมาภายนอกChamber 

  • ข้อดีคือ แม้เกิดพลาสมาไม่สมบูรณ์ ก็จะไม่เกิดการตกค้างของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ อยู่ในห้องอบ
  • ข้อด้อยคือ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ของสภาวะพลาสมาไปช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้

ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อม ทั้งการเกิดพลาสมาเกิดภายในChamber และ ภายนอกchamber จะมีการจัดการเพื่อความปลอดภัยอีกขั้นหนึ่งคือการกรองในขั้นตอนสุดท้ายด้วยระบบการกรองสารตกค้าง ด้วยใส้กรองที่ถูกออกแบบมาสำหรับใช้ในการนี้โดยเฉพาะ

  • https://www.cssd-gotoknow.org/
  • https://www.angelicteam.com/

[Angelicteam – Design Healthcare Solutions โซลูชันด้านสุขภาพ – นิยามใหม่ของความเป็นเลิศด้านงานปลอดเชื้อ]



                                               



◉ ดูข้อมูลเพิ่มเติม ตามหมวดหมู่เนื้อหา >>

แสดงเพิ่มเติม