กรณีศึกษา คำพิพากษาการปฏิบัติงานของแพทย์

แพทย์ออกไปทานอาหารกลางวัน 1 ชั่วโมง 12 นาที เป็นเหตุให้ตัดสินใจผ่าตัดผู้ป่วยล่าช้าเกินควร จึงไม่ได้มาตรฐาน

#กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 85/2558

โดยปกติการรักษาผู้ป่วยของแพทย์ไม่น่าจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีปกครอง เพราะการรักษานั้นมิได้เป็นการกระทำทางปกครอง 


แม้แพทย์รักษาช้าไปก็ไม่เป็นเหตุให้ฟ้องกรณีปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินควรได้ แต่เนื่องจากแพทย์ถูกควบคุมโดยองค์กรวิชาชีพ คือ แพทยสภา ซึ่งสามารถออกคำสั่งทางปกครองในกรณีมีการร้องเรียนแพทย์ได้ นี่คือต้นเหตุให้แพทย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับศาลปกครอง ซึ่งศาลอาจวินิจฉัยในเนื้อหาเกี่ยวกับการรักษาของแพทย์ ก่อนที่จะตัดสินได้ว่า คำสั่งของแพทยสภานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

สรุปข้อเท็จจริงสำคัญ: เมื่อปี 2544 ผู้ป่วยไปคลอดบุตรที่สถานพยาบาลแห่งหนึ่ง (เป็นลักษณะกึ่งเอกชน) โดยมีสูติแพทย์ดูแล ต่อมาเกิดภาวะ fetal distress due to hypoxia due to occult umbilical cord prolapse (กรณีนี้ สายสะดือถูกกด
โดยแก้มเด็กขณะอยู่ในมดลูก) 

ซึ่งกรณีสายสะดือถูกกดแบบนี้เป็นภาวะที่วินิจฉัยยากมาก โดยเวลา 11.30 น. เริ่มพบว่าอัตราเต้นหัวใจของทารกเป็น 162 ครั้งต่อนาที และเร็วขึ้นเรื่อยๆ 12.10-13.22 น. สูติแพทย์ออกไปรับประทานอาหารที่ตึกซึ่งห่างออกไปประมาณ 10 เมตร (อยู่ในเขตโรงพยาบาล)  ในเวลา 13.22 น. สูติแพทย์กลับมายังห้องคลอดเพราะพยาบาลโทรแจ้งเรื่องอัตราเต้นหัวใจเด็ก เมื่อเห็นอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นมาก 184 ครั้งต่อนาที จึงตัดสินใจผ่าตัดคลอดอย่างเร่งรีบ โดย
ผ่าตัดเวลา 14.02 น. แต่เมื่อเด็กทารกคลอดออกมา มีภาวะขาดอากาศและเสียชีวิตในที่สุด

ผู้คลอดและสามีจึงร้องเรียนไปยังแพทยสภาให้พิจารณาความผิดของสูติแพทย์ ฐานไม่รักษามาตรฐานในระดับดีที่สุด และไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสิ้นเปลืองของผู้ป่วย (ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2526 หมวด 3 ข้อ 1 และข้อ 6 ตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันมีการแก้ไขในปี 2549 แล้ว) 

ผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทยสภา คือ ยกข้อกล่าวโทษทั้งหมด ซึ่งต่างกับความเห็นของคณะอนุกรรมการจริยธรรมและคณะอนุกรรมการ
สอบสวนข้อเท็จจริง (เป็นขั้นตอนก่อนการวินิจฉัย คือ การชี้มูลและสอบสวนข้อเท็จจริง) จึงทำให้ผู้ป่วยฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่ง (มติ) แพทยสภานั้น แล้ววินิจฉัยใหม่ เนื่องจากไม่เชื่อใน

ความเที่ยงธรรมของแพทยสภาและมติดังกล่าวมิได้แสดงรายละเอียดและเหตุผลการใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยตามหลักกฎหมาย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง (3)

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย มี 2 ประเด็น
1. ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา (เรื่องอำนาจฟ้องคดี) จึงไม่ขอกล่าวถึง
2. มติแพทยสภาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

การที่จะวินิจฉัยว่า มติแพทยสภาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้อง
พิจารณาเนื้อหาข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยต้องวินิจฉัยถึงขั้นที่ว่า สูติแพทย์ไม่รักษามาตรฐานในระดับดีที่สุด และไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและสิ้นเปลืองของผู้ป่วยหรือไม่ก่อน (เป็นการวินิจฉัยแบบคดีแพ่งนั่นเอง) และ
ตามคำฟ้องและคำอุทธรณ์ มติแพทยสภาไม่ต้องแสดงเหตุผลประกอบการใช้ดุลยพินิจในคำสั่งของแพทยสภานั้นใช่หรือไม่

***กรณีวินิจฉัยว่าสูติแพทย์รักษาไม่ได้มาตรฐานและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย
ศาลเห็นด้วยกับสูติแพทย์ว่า การใช้วิทยาการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด จะทำให้มารดาและบุตรทุกรายได้รับความปลอดภัย ซึ่งหากมีการสูญเสียก็ถือว่าเป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติและกฎแห่งกรรม แต่ กรณีนี้ศาลเห็นว่า เป็นกรณีที่ป้องกันและแก้ไขได้ ถ้าได้ทำคลอดถูกต้องตามมาตรฐาน

พยานหลักฐานที่ศาลใช้เพื่อวินิจฉัยว่ารักษาตามมาตรฐานหรือไม่ ได้แก่ คำฟ้องของผู้ฟ้องคดี (สามีผู้เสียหายฟ้องคดี) คำให้การของสูติแพทย์ (เป็นผู้ร้องสอดเข้ามาในคดี) คำให้การของแพทยสภา พยานผู้เชี่ยวชาญ (สูติแพทย์จากราชวิทยาลัยสูติศาสตร์ ซึ่งศาลตั้งเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญของศาล) ตำราข้อเสนอแนะการดูแลทางสูติกรรมและกุมารเวชกรรม เพื่อป้องกันและรักษาภาวะการขาดออกซิเจนในทารกแรกเกิด ของสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย (ผู้ฟ้องคดีอ้าง)

ศาลวินิจฉัยแยกเป็นสองประเด็นย่อยต่อเนื่องกัน คือ 

การตัดสินใจผ่าตัดของสูติแพทย์ช้าไปหรือไม่ ?
เห็นว่า แพทย์ทราบแต่แรกแล้วว่าทารกอยู่ในท่านอนหงายซึ่งแตกต่างไปจากการคลอดปกติที่ทารกอยู่ในท่านอนคว่ำ และการที่หัวใจทารกเต้นเร็วว่าปกติขณะแพทย์ออกไปทานอาหารถึง 1 ชั่วโมง 12 นาที เมื่อพยาบาลโทรไปแจ้งจึงรีบกลับมา (เพราะตามตำราที่ผู้ฟ้องคดีอ้าง ระบุว่ากรณีที่หัวใจทารกเต้นช้าหรือเร็วกว่าปกติ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจนของทารก แพทย์ต้องช่วยเหลือให้คลอดโดยเร็ว สำหรับกรณีเร่งด่วนและฉุกเฉิน การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องต้องกระทำได้ทันที ระหว่างรอคลอดต้องดูแลอย่างใกล้ชิด .... แม้ฝ่ายสูติแพทย์จะอ้างว่าอัตราการเต้นของหัวใจที่อันตรายคือ อัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าลง แต่จากการกระทำของสูติแพทย์ที่รีบเร่งนำผู้ป่วยไปผ่าตัดเมื่อพบว่าชีพจรเด็กเต้น 184 ครั้งต่อนาที จึงขัดแย้งกัน ขาดความน่าเชื่อถือ) จึงแสดงให้เห็นว่า การคลอดในผู้ป่วยรายนี้อยู่ในภาวะที่ไม่ปกติและแตกต่างจากการคลอดโดยทั่วไป แพทย์ผู้ดูแลต้องให้การดูแใกล้ชิด เมื่อที่แพทย์ออกไปทานอาหาร 1 ชม. 12 นาที ทำให้ตัดสินใจผ่าตัดทำคลอดผู้ป่วยช้าไป

การตัดสินใจช้า ผิดมาตรฐานหรือไม่

พยานผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า เป็นการตัดสินใจที่ช้าเกินไปโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของทารก และผู้คลอดก็ได้ร้องขอให้ผ่าคลอดถึง 3 ครั้งแต่แพทย์ยังไม่ยอมผ่าตัดให้ และ สูติแพทย์ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางสูติศาสตร์ ทำงานมาหลายปี สอนนักศึกษาแพทย์ และเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ จึงควรรู้ว่าภาวะสายสะดือย้อยดังกล่าว (occult prolapse cord) นั้นวินิจฉัยยาก แต่มิได้หมายความว่าจะวินิจฉัยไม่ได้ (คือ ต้องดำเนินการเฝ้าระวังให้ใกล้ชิด เมื่อมีการวัดอัตราการเต้นของหัวใจแล้วพบว่า หัวใจทารกเต้นเร็วควรดำเนินการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เด็กคลอด) เมื่อสูติแพทย์ออกไปทานอาหารถึง 1 ชั่วโมง 12 นาที จึงเป็นการตัดสินใจผ่าตัดล่าช้าเกินควร เป็นการกระทำที่เข้าลักษณะไม่ได้มาตรฐานในระดับดีที่สุด และไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย

***กรณีคำสั่งแพทยสภาที่ 55/2547 (23 พ.ย. 2547) ไม่ปฎิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง (3) คือ ไม่ระบุเหตุผลข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนการใช้ดุลยพินิจจริง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การวินิจฉัยของแพทยสภาไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งในด้านเนื้อหาที่วินิจฉัยและรูปแบบการทำคำสั่ง ศาลจึงให้เพิกถอนคำสั่งแพทยสภาฉบับนั้น

ขอแสดงความเสียใจต่อทั้งผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีด้วยครับ

หมายเหตุ
คำสั่งให้ลงโทษหรือยกข้อกล่าวโทษของแพทยสภาถือเป็น คำสั่งทางปกครอง ตามนัยมาตรา 5 ซึ่งต้องมีรูปแบบของคำสั่งตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 

มาตรา 5 
...
"คำสั่งทางปกครอง" หมายความว่า
(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวร หรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่ หมายความรวมถึงการออกกฎ

มาตรา 37 คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(1) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ
(2) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง
(3) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ
นายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้คำสั่งทางปกครองกรณีหนึ่งกรณีใดต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งนั้นเองหรือในเอกสารแนบท้ายคำสั่งนั้นก็ได้

บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้
(1) เป็นกรณีที่มีผลตรงตามคำขอและไม่กระทบสิทธิและหน้าที่ของบุคคลอื่น
(2) เหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก
(3) เป็นกรณีที่ต้องรักษาไว้เป็นความลับตามมาตรา 32
(4) เป็นการออกคำสั่งทางปกครองด้วยวาจาหรือเป็นกรณีเร่งด่วนแต่ต้องให้เหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรใน เวลาอันควรหากผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งนั้นร้องขอ


เครดิต  Administrative Law

◉ ดูข้อมูลเพิ่มเติม ตามหมวดหมู่เนื้อหา >>

แสดงเพิ่มเติม