การตรวจสอบประสิทธิภาพการทำให้ปราศจากเชื้อ Monitoring of Sterilization

วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำให้ปราศจากเชื้อ

-เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ปราศจากเชื้อ
-เพื่อค้นหาความผิดปกติหรือข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อได้อย่าง-รวดเร็ว และสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
-เพื่อให้สามารถนำห่ออุปกรณ์ที่เกิดความผิดพลาดจากกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อกลับคืนจากหน่วยงานต่างๆ ก่อนที่จะถูกนำไปใช้กับผู้ป่วย
-เพื่อให้โรงพยาบาลมีมาตรฐานในการทำให้ปราศจากเชื้อ

การตรวจสอบประสิทธิภาพการทำให้ปราศจากเชื้อมี 3 วิธีคือ

การตรวจสอบทางกลไก (Mechanical or Physical monitoring)

การตรวจสอบทางเคมี (Chemical monitoring)

การตรวจสอบทางชีวภาพ (Biological monitoring) 


ซึ่งวิธีการตรวจสอบทั้ง 3 วิธีมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน 

  • -Mechanical monitoring แสดงให้เห็นการทำงานของ Sterilizer ว่าสมบูรณ์หรือไม่ 
  • -Chemical monitoring แสดงให้เห็นว่าห่ออุปกรณ์ได้ผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อแล้วและ
  • -Biological monitoring ชี้ให้เห็นว่าอุปกรณ์ปราศจากเชื้อ 


การตรวจสอบทางกลไก (Mechanical หรือ Physical Monitoring)

  • เป็นการตรวจสอบการทำงานของเครื่อง Sterilizer โดยดูจากตัวบ่งชี้ทางกลไก (Mechanical indicators) ซึ่งได้แก่ มาตรวัดอุณหภูมิ มาตรวัดความดัน สัญญาณไฟต่างๆ แผ่นกราฟที่บันทึกการทำงานของเครื่องในแต่ละขั้นตอน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งแรกที่บอกให้ผู้ปฏิบัติทราบว่าเครื่อง Sterilizer ทำงานปกติหรือไม่


ตัวบ่งชี้ทางกลไกของเครื่องนึ่งไอน้ำ

การตรวจสอบทางเคมี (Chemical Monitoring)

  • เป็นการตรวจสอบว่าสารที่เป็นตัวทำให้ปราศจากเชื้อ ได้แก่ ไอน้ำ แก๊ส Ethylene Oxide หรือสารเคมีที่ทำให้ปราศจากเชื้อตัวอื่นๆ ได้สัมผัสและแทรกซึมเข้าไปในห่ออุปกรณ์หรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบโดยดูจากการเปลี่ยนสีของตัวบ่งชี้ทางเคมี (Chemical Indicators) ซึ่งติดอยู่ภายนอกและอยู่ภายในห่ออุปกรณ์ ตัวบ่งชี้ทางเคมีนอกจากจะช่วยให้ทราบว่าอุปกรณ์ได้ผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อแล้ว ยังใช้ในการทดสอบการทำให้เกิดภาวะสูญญากาศภายในช่องอบของเครื่องนึ่งไอน้ำชนิด Pre-vacuum ซึ่งตัวบ่งชี้นี้เรียกว่า Bowie-Dick test

  • ตัวบ่งชี้ทางเคมีใช้ในการตรวจสอบความผิดพลาดที่มีผลจากการห่ออุปกรณ์ที่ไม่ถูกวิธี  การจัดเรียงห่ออุปกรณ์เข้าช่องอบไม่ถูกวิธี ความผิดปกติจากการที่มีอากาศอยู่ภายในเครื่อง

ตัวบ่งชี้ทางเคมี แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ

1.ตัวบ่งชี้ทางเคมีภายนอก (External chemical indicator) 
  • มีลักษณะเป็นแถบกระดาษกาวที่มีสีหรือสารเคมีเคลือบไว้เป็นแนวเส้นบนกระดาษ มักใช้ในการติดห่ออุปกรณ์เพื่อมิให้หลุดลุ่ย  และบ่งชี้ให้ทราบว่าห่ออุปกรณ์ได้ผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อแล้วเท่านั้น แต่ไม่สามารถใช้เป็น ยืนยันได้ว่าอุปกรณ์ที่อยู่ภายในห่อจะปราศจากเชื้อ 

ตัวบ่งชี้ทางเคมีภายนอก (External chemical indicator)  

2.ตัวบ่งชี้ทางเคมีภายใน (Internal chemical indicator)
  •  มีลักษณะเป็นชิ้น (strip) หรือเป็นแผ่นกระดาษแข็ง (card) จะใส่ไว้ภายในห่ออุปกรณ์เพื่อให้ทราบว่าไอน้ำหรือแก๊สสามารถเข้าภายในห่อและสัมผัสกับอุปกรณ์ภายในห่อหรือไม่  ตัวบ่งชี้ทางเคมีภายในมีหลายชนิด บางชนิดสามารถบ่งชี้ว่า อุปกรณ์สัมผัสอุณหภูมิต่ำสุดที่ต้องการและในระยะเวลาสั้นที่สุดที่กำหนด  บางชนิดมีความไวต่อการสัมผัสไอน้ำ  คือ เมื่อไอน้ำสัมผัสตัวบ่งชี้ภายใน สามารถทำให้ตัวบ่งชี้ภายในเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และอีกหลายชนิดที่บ่งชี้ถึงอุณหภูมิ ระยะเวลาการขจัดอากาศออกจากช่องอบ และการแทรกซึมของไอน้ำเข้าสู่ห่ออุปกรณ์ ควรใส่ตัวบ่งชี้ทางเคมีภายในในห่ออุปกรณ์ทุกห่อที่จะนำไปทำให้ปราศจากเชื้อ โดยใส่ตัวบ่งชี้ไว้ตรงกลางห่อ หรือในส่วนของห่ออุปกรณ์ที่คาดว่าไอน้ำหรือแก๊สผ่านเข้าได้ยากที่สุด  อย่างไรก็ตามตัวบ่งชี้ทางเคมีภายใน ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าอุปกรณ์ที่อยู่ภายในห่อปราศจากเชื้อ 

ตัวบ่งชี้ทางเคมีภายใน (Internal chemical indicator) Class 5


การแบ่ง Class Chemical indicators

3.Air removal tests เป็นการทดสอบที่ใช้สำหรับเครื่องนึ่งชนิด Pre-vacuum เท่านั้น  
มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินดูว่ามีอากาศอยู่ในช่องอบของเครื่องนึ่งหรือไม่ เหตุผลที่ไม่ควรมีอากาศเล็ดลอดเข้าไปในช่องอบ เนื่องจากอากาศจะเป็นตัวกันมิให้ไอน้ำแทรกซึมเข้าไปในห่ออุปกรณ์ และอากาศที่ผ่านเข้าไปไม่ได้ผ่านชั้นกรองอากาศ ดังนั้นจึงอาจทำให้ห่ออุปกรณ์เกิดการปนเปื้อนได้ การทดสอบ Air leak ควรทำเป็นประจำทุกวัน โดยใช้ตัวบ่งชี้ทางเคมี Bowie-Dick test เป็นตัวบ่งชี้ทางเคมีที่บ่งชี้ว่า การไล่อากาศออกจากช่องอบของเครื่องนึ่งไอน้ำชนิด Pre-vacuum เป็นไปอย่างสมบูรณ์หรือไม่ ก่อนที่จะนำห่ออุปกรณ์ไปทำให้ปราศจากเชื้อโดยใช้เครื่อง Pre-vacuum Steam Sterilizer จะต้องทดสอบการไล่อากาศออกจากเครื่อง โดยใช้ Bowie-Dick test ก่อนทุกครั้งที่ทำการอบทุกวัน

Bowie-Dick test

การตรวจสอบทางชีวภาพ (Biological Monitoring)

เป็นวิธีการตรวจสอบการทำให้ปราศจากเชื้อที่เชื่อถือได้มากที่สุด และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง วิธีการตรวจสอบใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biological indicator) ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า spore test ใช้สปอร์ของเชื้อ Bacillus ที่ยังมีชีวิตซึ่งเชื้อนี้มีความคงทนกว่าเชื้อจุลชีพอื่นๆ และไม่ก่อโรคเป็นตัวชี้วัด หากสปอร์ของเชื้อนี้ถูกทำลายย่อมชี้ให้เห็นว่า เชื้อจุลชีพอื่นๆ จะถูกทำลายระหว่างอยู่ในกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อด้วย ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่ใช้สำหรับเครื่องนึ่งไอน้ำใช้สปอร์ของเชื้อ Bacillus stearothermophilus สำหรับเครื่องอบแก๊ส Ethylene oxide และเครื่องอบความร้อน ใช้สปอร์ของเชื้อ Bacillus subtilis 

Biological Indicator

การทดสอบด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ทำได้โดยการบรรจุตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ในห่ออุปกรณ์ที่จะนำไปทำให้ปราศจากเชื้อ นำห่ออุปกรณ์ที่จะทดสอบเข้าเครื่องโดยจัดวางห่อทดสอบไว้บริเวณที่คาดว่าการทำให้ปราศจากเชื้อจะยากที่สุด สำหรับเครื่องนึ่งไอน้ำจุดที่ควรวางห่อทดสอบ คือ ชั้นล่างของเครื่องนึ่งบริเวณที่อยู่เหนือช่องระบายน้ำ

เมื่อห่อทดสอบผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อโดยเครื่องนึ่งไอน้ำแล้ว นำหลอด Spore test และหลอดควบคุม ไปอุ่นเพาะเชื้อที่อุณหภูมิ 55 – 60 องศาเซลเซียส พร้อมๆ กันเป็นเวลา 24 – 48 ชั่วโมง หลังจากอุ่นเพาะเชื้อแล้ว หากพบว่าสีของน้ำยาเลี้ยงเชื้อในหลอดทดสอบเปลี่ยนไป แสดงว่า เชื้อไม่ตาย นั่นคือห่ออุปกรณ์ทั้งหมดที่นึ่งพร้อมกับห่อทดสอบไม่ปราศจากเชื้อ

หม้ออุ่นเชื้อ Incubator อ่านผลจากการเรืองแสง Fluorescence
หม้ออุ่นเชื้อ Incubator อ่านผลจากการเปลี่ยนแปลงของสี อาหารเลี้ยงเชื้อ
หม้ออุ่นเชื้อ Incubator อ่านผลจากการเรืองแสง Fluorescence
หม้ออุ่นเชื้อ Incubator อ่านผลจากการเปลี่ยนแปลงของสี อาหารเลี้ยงเชื้อ
หม้ออุ่นเชื้อ Incubator อ่านผลจากการเปลี่ยนแปลงของสี อาหารเลี้ยงเชื้อ

ผลการทดสอบ Spore Test สำหรับ Steam Sterilizer เป็นบวก อาจเกิดจากปัญหาในการขจัดอากาศออกจากเครื่อง หรือระยะเวลาที่ใช้ไม่เหมาะสม อุณหภูมิไม่สูงพอ การห่ออุปกรณ์ไม่เหมาะสม การบรรจุอุปกรณ์เข้าเครื่องไม่ถูกต้อง จึงต้องพิจารณาว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้และแก้ไข 

หากพบว่ามีสาเหตุจากเครื่องชำรุดจะต้องรีบซ่อมแซม และทดสอบจนมั่นใจในประสิทธิภาพของเครื่องก่อนใช้ ทำให้อุปกรณ์ปราศจากเชื้อ ควรแก้ไขโดยให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงาน และกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องและชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร

หากผลการทดสอบ Spore test สำหรับ EO Sterilizer เป็นบวก แสดงให้เห็นว่า อาจเกิดจากมีความชื้นในเครื่องไม่เพียงพอ ปริมาณหรือความเข้มข้นของแก๊ส EO ไม่เพียงพอ ระยะเวลาไม่นานพอ อุณหภูมิไม่สูงพอ การห่ออุปกรณ์หรือการเตรียมอุปกรณ์ไม่เหมาะสม การจัดเรียงอุปกรณ์เข้าเครื่องไม่เหมาะสม

ความถี่ของการตรวจสอบด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ควรตรวจสอบทุกครั้งที่ทำให้อุปกรณ์ประเภทอวัยวะเทียมต่างๆ ปราศจากเชื้อ ไม่ว่าจะโดยวิธีนึ่งด้วยไอน้ำหรืออบแก๊ส หากใช้แก๊ส EO ควรดำเนินการทุกครั้ง หากใช้เครื่องนึ่งไอน้ำอย่างน้อย ควรทดสอบสัปดาห์ละครั้ง อวัยวะเทียมเมื่อผ่านการทำให้ปราศจากเชื้อแล้ว ควรเก็บไว้จนกระทั่งทราบผลการตรวจด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพแน่นอนว่าให้ผลลบหลังจากอุ่นเพาะเชื้อนาน 48 ชั่วโมงจึงนำเครื่องมือไปใช้ได้  


ความถี่ของการตรวจสอบด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ตามคำแนะนำ ของ CDC Guideline for Disinfection and Sterilization in Healthcare Facilities, 2008

-Steam and low temperature sterilizers (e.g., hydrogen peroxide gas plasma, peracetic acid) should be monitored at least weekly with the appropriate commercial preparation of spores.

-If a sterilizer is used frequently (e.g., several loads per day), daily use of biological indicators allows earlier discovery of equipment malfunctions or procedural errors and thus minimizes the extent of patient surveillance and product recall needed in the event of a positive biological indicator.

-Each load should be monitored if it contains implantable objects. If feasible, implantable items should not be used until the results of spore tests are known to be negative.


◉ ดูข้อมูลเพิ่มเติม (READ MORE) >>

แสดงเพิ่มเติม

◉ โพสต์ที่มีการดูมากที่สุด

การทำให้ปราศจากเชื้อ Sterilization

การบริหารงานจ่ายกลาง (Central Sterile Supply Management)

การทำให้ปราศจากเชื้อด้วยการอบแก๊ส Ethylene Oxide (Eto)