การทำความสะอาด Cleaning


การทำความสะอาด Cleaning


การล้างทำความสะอาดเครื่องมือทางการแพทย์
การทำความสะอาด (Cleaning) หมายถึง การขจัดอินทรียสาร สิ่งสกปรก ฝุ่นละอองและสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ออกจากอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์และสิ่งแวดล้อม

การล้างเป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อในอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่จะต้องนำกลับมาใช้กับผู้ป่วยอีก การล้างอุปกรณ์ควรทำในบริเวณที่จัดไว้สำหรับล้างอุปกรณ์โดยเฉพาะ และผู้ปฏิบัติจะต้องสวมเครื่องป้องกัน ได้แก่ ถุงมือยางอย่างหนา แว่นตา ผ้าปิดปากและจมูก ผ้ากันเปื้อนพลาสติก รวมทั้งรองเท้าบู๊ท

อุปกรณ์ทุกชิ้นที่จะนำไปล้างทำความสะอาด ควรได้รับการตรวจสอบความสึกหรอหรือชำรุด ขณะล้างควรแยกชิ้นของอุปกรณ์ต่างๆ ออกจากกัน เพื่อให้ผิวของอุปกรณ์สัมผัสน้ำที่ผสมสารขัดล้างอย่างทั่วถึง สำหรับอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กและมีรอยแยก ควรล้างด้วยเครื่องอุลตร้าโซนิค

การล้างทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์อาจทำได้โดยการล้างด้วยมือ (manual washing) หรือล้างด้วยเครื่องล้าง (automatic washers) หลังจากเสร็จสิ้นการล้างทำความสะอาดด้วยสบู่หรือสารขัดล้างแล้ว ควรล้างอุปกรณ์ด้วยน้ำสะอาดจนหมดคราบสบู่หรือสารขัดล้าง เพราะคราบสบู่ที่ติดอยู่บนอุปกรณ์จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อของร่างกายและยังส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อลดต่ำลง

ขั้นตอนการทำความสะอาดอุปกรณ์


1.อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้แล้วถือว่ามีการปนเปื้อนเชื้อจุลชีพ การนำอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้แล้วไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบควรบรรจุอุปกรณ์ลงในถุงพลาสติก หรือบรรจุในภาชนะที่มิดชิดขณะเคลื่อนย้าย

2.บริเวณที่ทำความสะอาดเครื่องมือ ควรดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคคลากร และลดการปนเปื้อนเชื้อจากอุปกรณ์ที่นำเข้ามาเพื่อทำความสะอาด โต๊ะที่ใช้วางเครื่องมือ พื้น และอ่างล้างเครื่องมือ ควรทำความสะอาดและทำลายเชื้ออย่างน้อยวันละครั้ง หรือพิจารณาตามความจำเป็น

3.บุคคลากรที่ทำหน้าที่ในการล้างเครื่องมือ ควรสวมผ้ากันเปื้อนพลาสติก ผ้าคลุมผม ถุงมืออย่างหนา แว่นตา ผ้าปิดปากและจมูก

4.การล้างเครื่องมือควรเลือกใช้สารขัดล้างที่เหมาะสมกับเครื่องมือ สารขัดล้างที่ผสมเอ็นซัยม์ที่เรียกว่า enzymatic detergent จะช่วยให้การขัดล้างเครื่องมือสะดวกและง่ายขึ้น สารขัดล้างที่ใช้กับเครื่องมือผ่าตัดควรมีสภาพความเป็นกลาง เพราะเครื่องมืออาจเสื่อมคุณภาพได้หากใช้สารขัดล้างที่กัดกร่อนเครื่องมือ

5.การล้างเครื่องมือโดยใช้มือ ขั้นตอนแรก คือการนำเครื่องมือแช่ลงในน้ำผสมสารขัดล้าง หรือ enzymatic detergent เพื่อให้การขัดล้างง่ายขึ้น หลังจากนั้นใช้แปรงขัดถูเครื่องมือทีละชิ้น ขณะที่ขัดล้างเครื่องมือ ควรขัดใต้น้ำ


-เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นท่อ เช่น สายสวน เข็มฉีดยา ท่อต่างๆ รวมทั้งกล้องส่องตรวจอวัยวะภายใน การล้างจะต้องล้างภายในท่อให้หมดด้วย เลือด สารน้ำ หรือสารคัดหลั่งอาจแห้งอยู่ภาย ในท่อ ทำให้ล้างออกยาก จึงควรแช่อุปกรณ์ประเภทนี้ใน enzymatic detergent เพื่อช่วยให้สิ่งที่ติดอยู่หลุดออกจากเครื่องมือได้ง่ายขึ้น

-อุปกรณ์ที่มีรู มีลักษณะเป็นท่อทุกชนิด ควรจะล้างทำความสะอาดจนกระทั่งน้ำที่ไหลผ่านท่อออกมาใส อาจใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ช่วยขจัดคราบเลือดหรือสารคัดหลั่งที่ติดอยู่ โดยฉีดน้ำยาเข้าไปในท่อ หากมีคราบเลือดติดอยู่ภายในท่อ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จะทำปฏิกิริยากับเลือด เกิดเป็นฟองอากาศให้เห็น ควรทำความสะอาดจนกระทั่งไม่มีฟองเกิดขึ้น แล้วจึงล้างไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ออกให้หมด

-เข็ม ควรทำความสะอาดโดยใช้แปรงเล็กๆ หรือไม้พันสำลีเช็ดภายในหัวเข็มให้สะอาด แล้วใช้น้ำล้าง อาจใช้กระบอกฉีดยาฉีดน้ำไล่เข้าไปในเข็ม ตรวจดูความคมและสภาพของปลายเข็มด้วย หากพบว่าไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ไม่ควรนำมาใช้อีก

6.ขณะที่ทำความสะอาดเครื่องมือ ควรทำด้วยความระมัดระวังเพื่อมิให้เครื่องมือชำรุดเสียหาย ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ควรสวมถุงมืออย่างหนาเมื่อหยิบจับอุปกรณ์ที่ปนเปื้อน และระมัดระวังการหยิบจับสิ่งของที่มีคม รวมทั้งเข็มฉีดยา ควรแยกเครื่องมือที่เปราะบางออกจากเครื่องมืออื่นๆ ควรล้างเครื่องมือเหล่านี้โดยใช้มือ เมื่อล้างเสร็จแล้วควรเช็ดให้แห้ง

7.Powered Instruments ได้แก่ เลื่อยไฟฟ้า สว่านไฟฟ้า ไม่ควรนำอุปกรณ์เหล่านี้แช่ในสารน้ำ เช็ดด้วยน้ำเกลือ แช่ในสารขัดล้างที่มีภาวะความเป็นกรดด่าง หรือในน้ำยาทำลายเชื้อ และต้องไม่นำไปล้างในเครื่องอุลตร้าโซนิค ควรศึกษาวิธีการที่บริษัทผู้ผลิตได้แนะนำไว้ หากเครื่องมือมีสายไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบควรตรวจดูสภาพของสายไฟฟ้าด้วยว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่

8.อุปกรณ์ที่เป็นพลาสติกอาจเสียหรือเสื่อมสภาพได้ง่ายจากการสัมผัสกับสารขัดล้างที่มีความเข้มข้นสูง อุณหภูมิสูง น้ำยาทำลายเชื้อ หรือจากหลายสิ่งรวมกันทำให้อุปกรณ์มีรอยแตกหรือเปลี่ยนสีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอลกอฮอล์และฟีนอล ไม่ควรใช้กับอุปกรณ์ที่เป็นพลาสติกโดยเด็ดขาด

9.การล้างกระบอกฉีดยาที่เป็นแก้ว ควรแยกกระบอกฉีดยาและลูกสูบออกจากกัน ล้างให้สะอาดโดยใช้มือ เพื่อขจัดคราบที่ติดอยู่ภายใน รวมทั้งสารขัดล้างที่ใช้ล้างกระบอกฉีดยาออกให้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกสูบและกระบอกฉีดยาติดกัน

-ขวดแก้วต่างๆ ควรตรวจดูว่ามีรอยร้าว บิ่น หรือไม่ หลังจากนั้นจึงล้างด้วยสารขัดล้างให้สะอาด

-เครื่องมือผ่าตัดที่มีขนาดเล็ก เปราะบาง ชำรุดง่าย ควรล้างทำความสะอาดด้วยมือ และตรวจสอบดูว่าไม่มีคราบสิ่งสกปรกติดอยู่ อาจล้างทำความสะอาดโดยใช้เครื่องอุลตร้าโซนิคหากบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแนะนำว่าใช้ได้

การล้างทำความสะอาดโดยการใช้เครื่อง
การล้างอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดขั้นตอนแรกที่จะต้องดำเนินการก่อนที่จะนำอุปกรณ์ไปทำลายเชื้อหรือทำให้ปราศจากเชื้อ หากการทำความสะอาดอุปกรณ์ไม่ดีพอ จะส่งผลให้กระบวนการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อไม่มีประสิทธิภาพ



◉ ดูข้อมูลเพิ่มเติม (READ MORE) >>

แสดงเพิ่มเติม

◉ โพสต์ที่มีการดูมากที่สุด

การทำให้ปราศจากเชื้อ Sterilization

การเก็บห่ออุปกรณ์ที่ผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเชื้อ

การทำให้ปราศจากเชื้อด้วยการอบแก๊ส Ethylene Oxide (Eto)