8 วิธีการ ในการตรวจสอบคุณภาพ การล้างทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ ก่อนนำไปทำให้ปราศจากเชื้อ

การควบคุมคุณภาพในการล้างทำความสะอาด (Quality control for cleaning)

การตรวจสอบคุณภาพ การล้างทำความสะอาดเครื่องมือแพทย์ 

1.การตรวจสอบด้วยตาเปล่า (Visual inspection)

พื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการตรวจสอบความสะอาดและสภาพความสมบูรณ์ของเครื่องมือคือ การตรวจสอบด้วยตาเปล่า เครื่องมือจะต้องปราศจากคราบสกปรกตกค้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามบริเวณข้อต่อ ตามร่องฟันปลา เดือย และจุดหมุนของเครื่องมือ รวมถึงการตรวจสอบคราบสนิม ร่องรอยการเกิดสนิม รอยร้าว รอยขีดข่วน ที่อาจทำให้การกำจัดคราบสกปรกตกค้างเป็นไปได้ยาก ถ้าเป็นไปได้ ควรใช้ใช้แว่นขยายในการตรวจสอบ เพราะจะช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น

2.การตรวจสอบด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลต (Ultra violet light)     

ในการตรวจสอบต้องใช้ร่วมกับชุดตรวจ ที่มีผงและสารละลายที่เป็นตัวช่วยในการมองเห็น ป้ายหรือโรยไปบนเครื่องมือ ถ้าเครื่องมือมีคราบสกปรก จะเกิดการเรืองแสงให้เห็น เป็นชุดตรวจสอบที่สามารใช้ช่วย ในการศึกษาเรียนรู้เรื่องการล้างได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริเวณที่เป็นจุดยากต่อการทำความสะอาดอย่างทั่วถึง ที่อาจจะหลงลืม เช่น ตามบริเวณข้อต่อ ตามร่องฟันปลา เดือย และจุดหมุนของเครื่องมือ ชุดตรวจสอบนี้ ยังสามารถใช้ในการให้ความรู้ในเรื่องของการล้างมือได้เป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถใช้ในการตรวจสอบมาตรฐาน ในกระบวนการล้างได้ เพราะตัวชุดอุปกรณ์เองในปัจจุบัน ยังไม่สามารถทำการปรับตั้งเทียบค่ามาตรฐานได้เมื่อมีการใช้ไปนานๆ

3.การใช้ชุดตรวจสอบเครื่องมือผ่าตัด (Test Object Surgical Instruments: TOSI)

ชุดตรวจสอบนี้ได้รับการยอมรับ และนำมาเป็นมาตรฐานในการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องล้าง และทำลายเชื้อ (Washer Disinfector) มีลักษณะเป็นแผ่นโลหะ ที่มีคราบสกปรกลักษณะคล้ายกับเลือดของมนุษย์ติดอยู่ ซึ่งครึ่งหนึ่งมีแผ่นพลาสติกปิดทับอยู่ ออกแบบมาเพื่อทำให้การล้างและสารล้างเข้าถึงได้ยากขึ้น เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบมาตรฐานการล้างทำความสะอาด และบ่งชี้ถึงสถานการณ์ที่ยากๆ  ในการล้างทำความสะอาด ที่จะทำให้อุปกรณ์สะอาดได้ ถ้าสามารถขจัดคราบได้หมด

4.การใช้ชุดตรวจสอบที่มีลักษณะเป็นท่อกลวงยาว (Test object for hollow instruments)

เพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบคุณภาพ ในการล้างอุปกรณ์ที่มีลักษณะกลวงและเป็นท่อยาว โดยจะมีแผ่นทดสอบความสะอาดใส่เข้าไปในส่วนที่มีลักษณะคล้ายกับแคปซูล ต่อเข้ากับสายที่เชื่อมต่ออยู่ทั้งสองด้าน ซึ่งขนาดของท่อจะมีขนาดใกล้เคียงกับอุปกรณ์ การใช้งานก็ทำเหมือนกับการใช้อุปกรณ์ทดสอบการล้างแบบอื่นๆ

5.การใช้ชุดตรวจสอบสำหรับกล้องส่องตรวจชนิดอ่อน (Test object for flexible endoscopes)

ชุดทดสอบจะมีลักษณะเทียบเคียงคล้ายกับกล้องส่องตรวจชนิดอ่อน (Flexible endoscopes) การใช้งานก็ทำเหมือนกับการใช้อุปกรณ์ทดสอบการล้างแบบอื่นๆ

6.การใช้ชุดตรวจสอบโปรตีน (Protein test)

เป็นการตรวจหาคราบเลือดที่ตกค้างอยู่บนอุปกรณ์ที่ผ่านการล้างทำความสะอาดแล้ว ที่ใช้ทดสอบเครื่องมือในแต่ละรอบการล้างทำความสะอาด ผลการทดสอบจะขึ้นอยู่ กับการทำปฏิกิริยาของเอนไซม์ (Enzymatic reaction) คราบสกปรกตกค้างจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสี โดยทั่วไปการตรวจสอบความเที่ยงตรงในระดับ 0.1 ไมโครกรัม สามารถอ่านผลได้ภายในครึ่งนาที โดยการใช้ชุดสำลี ป้ายบริเวณที่ต้องการตรวจสอบ แล้วใส่ลงในชุดหลอดที่มาพร้อมกัน และจากนั้นสังเกตผลจากการเปลี่ยนแปลงของสี (เช่น เปลี่ยนจากสีใส ไปเป็นสีเขียวอมน้ำเงิน)

7.การใช้ชุดตรวจสอบแบบบันทึกข้อมูล (Data loggers)

ในการวิเคราะห์ผลของกระบวนการล้างทำความสะอาด ที่จะต้องวัด อุณหภูมิ และเวลา ตลอดรอบกระบวนการล้างทำความสะอาด ในแต่ละจุดภายในเครื่อง สามารถใช้ชุดตรวจสอบแบบบันทึกข้อมูล (Data loggers) ในการทดสอบได้ โดยการนำไปต่อเชื่อมเข้ากับคอมพิวเตอร์ ที่มีโปรแกรมการอ่านผลเตรียมไว้ เพื่อวิเคราะห์ผล เมือเสร็จสิ้นรอบการล้างทำความสะอาด

8.การสอบเทียบเครื่องล้างและฆ่าเชื้อ (Validation of Washer/Disinfectors)

ตามมาตรฐานเครื่องล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ จะต้องทำการสอบเทียบค่าความเที่ยงตรง กับอุปกรณ์มาตรฐานที่สามารถทดสอบความสะอาด หาการตกค้างของจุลินทรีย์ขนาดเล็ก
จะต้องมีเอกสารกำกับขั้นตอนกระบวนการทำงาน ที่สามารแปลผลได้ว่าตลอดกระบวนการนั้นเครื่องดำเนินไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

เรียบเรียง: สุวิทย์ แว่นเกตุ
www.cssd-gotoknow.org

◉ ดูข้อมูลเพิ่มเติม ตามหมวดหมู่เนื้อหา >>

แสดงเพิ่มเติม